บทความบริการวิชาการ เรื่องต้องรู้ ก่อนทำธุรกิจกัญชง กัญชา

เรื่องต้องรู้ ก่อนทำธุรกิจกัญชง กัญชา

        กัญชาถือเป็นพืชกระแสดีที่มีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก หลังจากมีการปลดล็อกให้สามารถปลูก รับประทาน และจำหน่ายซึ่งต้องปฏิบัติให้ถูกกฎหมายและตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565” ลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 โดยมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา ทั้งนี้หากต้องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ เพื่อปลูกและจำหน่ายในเชิงพาณิชย์จำเป็นต้องดำเนินการขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อปกป้องตนเองและผู้บริโภคตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518

วิธีขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์และต้นกัญชง  กัญชา

          กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องการนำเข้าเมล็ดพันธุ์พืชกัญชง กัญชาอย่างถูกต้อง โดย
นายนิสิต บุญเพ็ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ (สวพ. 1 เชียงใหม่) เล่าว่า กรมวิชาการเกษตรควบคุมการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยพืชเป็นหลัก ขั้นตอนการดำเนินการขออนุญาตมีดังนี้

นายนิสิต บุญเพ็ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ (สวพ. 1 เชียงใหม่)

          ขั้นตอนแรก “ขออนุญาตนำเข้า” ผู้ประสงค์จะนำเข้าเมล็ดพันธุ์กัญชง กัญชา ควรเตรียมความพร้อมล่วงหน้า จะต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมให้เรียบร้อยก่อน โดยสามารถขออนุญาตนำเข้าได้ที่   กลุ่มควบคุมพันธุ์พืช  สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร  กรมวิชาการเกษตร หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ http://nsw.doa.go.th/public  สำหรับขั้นตอนการดำเนินการนำเข้าสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ลิงก์ https://www.doa.go.th/ard/  (รายละเอียดตามแนบท้าย)

          ต่อมาให้ดำเนินการแจ้งรายการนำเข้า โดยให้ผู้นำเข้าดำเนินการแจ้งรายการนำเข้าผ่านระบบออนไลน์ของกรมวิชาการเกษตร พร้อมทั้งแนบใบกำกับสินค้า รายละเอียดพันธุ์ที่นำเข้า ใบรับรองสุขอนามัยพืชที่รับรองการปลอดศัตรูพืช หนังสือรับรองจากผู้ผลิตว่าเป็นพืชที่ไม่ได้ตัดต่อพันธุกรรม หรือ Non GMOs และหนังสือรับรองคุณภาพเมล็ดพันธุ์ที่ให้การรับรองโดยหน่วยงานรัฐ หรือเอกชนประเทศต้นทาง หรือหน่วยงานที่ได้รับการรับรองที่องค์กรระหว่างประเทศยอมรับ ถัดมาเป็นขั้นตอนการรับสินค้า ณ ด่านที่แจ้งนำเข้า โดยกรมวิชาการเกษตรมีด่านรับทั้งด่านทางบก สนามบิน และด่านไปรษณีย์ ผู้ที่นำเข้าเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 4,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th/th/ หรือโทรสายด่วน One Stop 1174 ปรึกษาเรื่อง การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ การปลูก การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ การวิจัย การนำเข้า และส่งออกกัญชง กัญชา

วิธีการขออนุญาตขายเมล็ดพันธุ์และต้นกัญชง  กัญชา

          หากใครต้องการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์และต้นกล้ากัญชง กัญชาในเชิงพาณิชย์ นายนิสิตแนะนำให้ดำเนินการขออนุญาตขายเมล็ดพันธุ์ควบคุมก่อนประกอบกิจการให้ถูกต้อง โดยการขออนุญาตสิ่งที่ต้องมีคือ “สำเนาทะเบียนพาณิชย์” หรือ “หนังสือรับรองนิติบุคคลในรูปแบบบริษัท”  สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน  สำเนาทะเบียนบ้านและสัญญาเช่าพื้นที่ในกรณีที่เป็นสถานที่เช่า โดยสามารถยื่นเอกสารขออนุญาตได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร อาทิ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 (สวพ.1) หรือที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรประจำจังหวัด นอกจากนี้หากไม่สะดวกติดต่อหน่วยงานด้วยตนเองสามารถยื่นเอกสารออนไลน์ที่ http://nsw.doa.go.th/nsw/  โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซด์กรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th

การขอมาตรฐาน GAP ในการผลิตกัญชง กัญชา

          หลังจากเกษตรกรทำการจดแจ้งในแอปพลิเคชัน “ปลูกกัญ” ซึ่งเป็นระบบของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข (อย.) เรียบร้อยแล้ว เกษตรกรปลูกกัญชาสามารถขอมาตรฐานพืชปลอดภัย หรือ Good Agricultural Practices: GAP ได้ที่กรมวิชาการเกษตร โดยมาตรฐานนี้จะตรวจสอบปริมาณโลหะหนัก เนื่องจากพืชกัญชง กัญชาเป็นพืชที่มีความสามารถในการดูดซับโลหะหนัก ทั้งนี้หากพื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่ที่เคยมีสายแร่ หรืออยู่ใกล้พื้นที่อุตสาหกรรมที่มีการปลดปล่อยมลภาวะจะเสี่ยงในการสะสมของโลหะหนักมากกว่าพื้นที่อื่น โดยได้ใช้มาตรฐานสินค้าเกษตร ขอบข่ายการปฏิบัติทางการเกษตรที่สำหรับพืชอาหาร มกษ.9001-2564 หรือขอบข่ายมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชสมุนไพร มกษ.3502-2561 ในการตรวจสอบเพื่อออกมาตรฐาน GPA ด้วย สามารถมาสมัครขอรับรองมาตรฐานได้ที่หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตรในพื้นที่หรือดาวน์โหลดเอกสารใบสมัครที่ http://gap.doa.go.th

          นอกจากนี้ การปลูกกัญชง กัญชาเกษตรกรต้องเข้าใจและปฏิบัติตามคำแนะนำที่กรมวิชาการเกษตรกำหนด ไม่ว่าจะเป็นการใช้วัตถุอันตราย หรือการใช้สารกำจัดศัตรูพืช โรคและแมลง  พร้อมทั้งแนะนำให้ใช้วิธีการจัดการศัตรูพืชแบบ Integrate Pest Management (IPM) คือการจัดการศัตรูพืชแบบผสมผสาน และบันทึกข้อมูลกระบวนการก่อนและหลังการเก็บเกี่ยวให้เรียบร้อย

พื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกกัญชง  กัญชา

          นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กล่าวว่า พืชกัญชง กัญชาสามารถปลูกได้ทุกพื้นที่ ฤดูกาลที่เหมาะสมในการปลูกคือฤดูฝน เนื่องจากต้นกัญชง กัญชาจะออกดอกในช่วงเดือนมกราคม และเก็บเกี่ยวในเดือนกุมภาพันธ์ โดยใช้ระยะเวลาในการเพาะต้นกล้าประมาณ 14-21 วัน หากปลูกในโรงเรือนต้องใช้แสงไฟทำให้มีต้นทุนในการผลิตสูง หากปลูกในพื้นที่เปิดโล่งแจ้งจะพบปัญหาในเรื่องของแมลง อาทิ แมลงปากดูดจำพวกเพลี้ยไฟ เพลี้ยแป้ง ตัวอ่อนของแมลงต่าง ๆ หากเลือกพื้นที่ปลูกได้ ให้เลือกพื้นที่ที่ไม่มีการสะสมของโรคและแมลง

        อย่างไรก็ตาม หากต้องการปลูก ขาย กัญชง กัญชาในเชิงพาณิชย์ นอกจากต้องคำนวณต้นทุนแล้วต้องคำนวณระยะเวลาในการคืนทุนด้วย เนื่องจากกัญชา กัญชงถือเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ที่ได้รับความนิยม ฉะนั้นหากมีอัตราการผลิตที่เพิ่มมากขึ้น ราคาขายพืชกัญชง กัญชาอาจลดลงไปตามกลไกตลาดได้  สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์กรมวิชาการเกษตร https://www.doa.go.th/th/ หรือโทรสายด่วน One Stop 1174 ปรึกษาเรื่อง การขึ้นทะเบียนสายพันธุ์ การปลูก การจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ กล้าพันธุ์ การวิจัย การนำเข้า และส่งออกกัญชง กัญชา
ขอบคุณรูปภาพจาก กรมวิชาการเกษตร /
นายนิสิต บุญเพ็ง